ประติมากรรม
ประติมากรรม(Sculpture)
เป็นการสร้างสรรค์งานทัศนศิลป์ที่เกิดจากกระบวนการปั้น การแกะ การหล่อ การเชื่อมติด เพื่อให้เกิดรูปทรงที่สัมผัสได้ในลักษณะ 3 มิติภายใต้ความต้องการของศิลปินที่เรียกว่า “ประติมากร”
ในทางรูปแบบนั้นประติมากรรมจำแนกได้ 3 แบบตามลักษณะการมองเห็น คือ ประติมากรรมนูนต่ำ ประติมากรรมนูนสูง และประติมากรรมลอยตัว
1.ประติมากรรมนูนต่ำ(Bass Relief)
เป็นประติมากรรมทีมีความแตกต่างระหว่างรูปกับพื้นซึ่งเป็นฐานของงานน้อยมาก และจะสามารถชื่นชมผลงานได้เพียงด้านหน้าด้านเดียว ส่วนด้านข้างจะไม่สามารถมองเห็นเป็นรูปทรง ได้แก่ เงินเหรียญ พระเครื่อง เป็นต้น
2.ประติมากรรมนูนสูง(High Relief)
เป็นประติมากรรมที่มีความแตกต่างระหว่างรูปและฐานรองรับในระดับสูงจนสามารถที่จะสัมผัสชื่นชมความงามทั้งด้านหน้าและด้านข้าง แต่ก็ยังผนึกตัวเป็นส่วนหนึ่งของแผ่นฐาน ได้แก่ ผลงานประติมากรรมฐานอนุสาวรีย์ ประตูสลักไม้ตามโบสถ์
ผลงานของคุณ ชิตพล พ่ออามาตย์
ผลงานของคุณ ชิตพล พ่ออามาตย์
3.ประติมากรรมลอยตัว(Round Relief)
เป็นประติมากรรมที่สามารถมองเห็นและสัมผัสได้ทุกด้าน ซึ่งมักจะตั้งบนฐานรองรับที่เหมาะสมกับผลงาน เช่น อนุสาวรีย์ พระพุทธรูป ซึ่งทั้งนี้รวมถึงประติมากรรมที่แขวน หรือที่เรียกว่าโมไบล์(Mobile)
การจำแนกกลวิธีทางประติมากรรมนั้นสามารถจำแนกได้ 3 กลวิธีใหญ่ ดังนี้
1.กระบวนการทางบวก(Additive Process) การสร้างงานประติมากรรมโดยเอาส่วนย่อยเพิ่มเข้าเพื่อให้ได้ส่วนรวมตามต้องการ
2.กระบวนการทางลบ(Subtractive Process) การสร้างงานประติมากรรมโดยเอาส่วนย่อยออกจากส่วนรวม ได้แก่การแกะสลัก
3.กระบวนการผสมผสาน(Mixed Process) การสร้างงานประติมากรรมที่เป็นการคิดค้นแก้ปัญหาของประติมากรในด้านวัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ เพื่อให้ผลงานออกมาตามความมุ่งหวัง